ตะแกรงตากอาหาร 3ชั้นในตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ดีจริงหรือ!

โห..อะเมซซิ่งมาก..มีตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบตะแกรงตากอาหารหลายชั้นขายด้วย

ตะแกรงตากอาหาร ในตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์โดยปกติใน 1 ตู้ ก็จะมีชั้นเดียว ซึ่งออกแบบให้มีการเกิดความร้อนภายในเมื่อแสงแดดส่องเข้ามา และจัดทำช่องให้มีการระบายความชื้นออก ปกติใช้พัดลมดูดอากาศหรือความชื้นตัวเล็ก มีการวางทำแหน่งให้เหมาะสม หลักการกว้างเช่นนี้ก็เวิร์คสำหรับตู้อบฯ แล้ว การแข่งขันทางการตลาดที่ผลิตตู้ฯ ออกขาย ก็จะมีเพียงแค่นี้คือ ผลิตตู้ > วางจำหน่าย > ผู้ซื้อใช้งาน > ได้ผลลัพท์ตามที่คาดหวัง แต่ทำไมมีอะไรดลใจผู้ผลิตให้มี…

ตะแกรงตากอาหาร 3 ชั้นเพื่อการตลาดที่ดูจะแตกต่าง และโดดเด่นกว่าหรือไม่!

ในปัจจุบันนี้มีผู้ผลิตตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์บางท่านกลับเข้าใจกระบวนการอบแห้งคลาดเคลื่นไปพอสมควรจึงได้ทำแผงตากผลผลิตภายในตู้ฯ เพิ่มขึ้นเป็นแบบ 2 ชั้นบ้าง หรือ 3 ชั้นบ้าง ซึ่งดูเหมือนจะทำให้ผู้ใช้งาน หรือผู้ที่ซื้อตู้ฯ ไปใช้ได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ตากที่มากขึ้น ผมสมมติตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างนี้นะครับ

ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก มีตะแกรงตากอาหารชิ้นเดียว (หรือชั้นเดียว) สามารถตากกล้วยได้ 120 ลูก ใช้เวลาตากกล้วยกับตู้ฯ นี้คือ 4 วัน (ซึ่งปกติแล้วการตากแดดโดยตรงจะใช้เวลาแห้งถึง 7-8 วัน) แต่แนวคิดของผู้ผลิตตู้ฯ หรือช่างก็ตาม คิดแบบเส้นตรงคือ ถ้าเพิ่มตะแกรงตากไปอีก 2 ชั้น เป็น 3 ชั้น จะทำให้ตากกล้วยได้ถึง 360 ลูก (120 ลูก x 3 ชั้น) แน่นอนว่าจะต้องเพิ่มความสูงของตู้ฯ เพื่อมีพื้นที่วางตะแกรงตากผลผลิตได้ครบ

แนวคิดในการเพิ่มขั้นตากดูเหมือนจะดีมากๆ แต่…

ความเป็นจริงกลับวิ่งสวนทางกันเฉยเลย ค่อยๆ คิดตามผมนะครับ ความร้อนที่จะทำให้ผลผลิตแห้งเกิดจากแสงอาทิตย์ที่ส่องลอดเข้ามาในตู้ฯ กระทบกับวัตถุในตู้ฯ ซึ่งจะเป็นกล้วย หรืออะไรก็ตาม แม้กระทั่งวัสดุโครงสร้างภายใน จะค่อยๆ เกิดความร้อนขึ้นมา แต่พื้นที่ของที่ตากอยู่ของชั้นที่ 2 และ 3 จะถูกบังไม่ได้โดนแสงอาทิตย์ ทำให้ความร้อนเกิดส่วนใหญ่จากพื้นที่ด้านบนเท่านั้น

ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์แบบ3ตะแกรงตากอาหาร

ทำให้ปัญหาที่ตามมาของตะแกรงตากอาหารหลายชั้น

  1. คือความร้อนภายในตู้ไม่พอ
  2. ความร้อนที่น้อยอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถกระจายลงด้านล่างได้
  3. ความชื้นของผลผลิตจำนวนมากในตู้เกิดการคายความชื้นไม่เท่ากัน
  4. ความชื้นที่เกิดขึ้นสะสมอยู่ในตู้เป็นจำนวนมาก ระบายไม่ทัน
  5. จำนวนวันเวลาในการตากจะเพิ่มมากขึ้นจะไม่ใช่ 4 วันแน่นอน
  6. จำเป็นต้องสลับตะแกรงตากในทุกๆ วัน หรือทุกครึ่งวัน
  7. โอกาสที่ผลผลิตจะเน่าเสียเพิ่มขึ้น เพราะจุลินทรีย์ไม่ตาย

เรียกว่า ได้ไม่คุ้มเสีย ลองคิดกันดูเล่นๆ ครับว่าถ้าเอากระโด้ง 2 อัน วางกล้วยจะเต็มหรือไม่เต็มก็ตาม แล้วนำไปตากแดดในที่โล่งๆ ปกติ (ไม่ใช่ตู้ฯ) แต่ตากแบบซ้อนกันคือ จะเป็นแบบกระโด้งด้านบน บังแดดกระโด้งด้านล่าง คำถามคือแบบนี้จะมีชาวบ้านที่ไหนทำกันมั้ยครับ ผมว่าคงไม่มีใครทำ เพราะเหตุผลคือถ้ากล้วยที่ตากถูกบังแดด แล้วมันจะแห้งได้ยังไงจริงมั้ย..

บอกเลยแบบนี้ผมก็ยังไม่เคยทดลองในการตากแบบใช้กระโด้งตามวิธีการที่ว่ามา แต่…

หลายปีก่อนหน้านี้ตอนที่ยังไม่ได้ผลิตตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ผมอยากทำกล้วยตากก็เลยมีโอกาสเคยทดลองตากใน คอนโดตากกล้วย หรือตะแกรงตากที่เป็นตาข่ายสีฟ้าที่มี 3 ชั้น อันนี้น่าจะคุ้นตากันมาบ้าง ผมลองตากกล้วยทั้ง 3 ชั้น แบบไม่ได้ตากชิดกันคือให้มีช่องว่างระหว่างกล้วยบ้าง ผมตากตั้งแต่ 8 โมงเช้า และมาเก็บตอน 4 โมงเย็น ผลปรากฎว่ากล้วยชั้นบนคายน้ำได้มากกว่าชั้นที่ 2 และ 3 อย่างเห็นได้ชัด

นั่นแหละครับ..ก็เข้าหลักการที่ได้กล่าวเอาไว้คือ เหมือนกับเอากระโด้งตากกล้วยไปตากแดดแบบซ้อนกัน หรือบังแดดกันเอง ด้านล่างที่โดนบังแสงอาทิตย์จะแห้งยากมาก สรุปเบื้องต้นคือ ตากแบบใช้กระโด้งตากแดดโดยตรงไม่มีใครเขาทำกัน แต่พอเป็นที่ตากอาหารแบบหลายชั้น หรือตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบ 3 ชั้น กลับมีผู้ที่คิดทำออกมา

ตะแกรงตากอาหาร, ตากกล้วย หรือตะแกรงตากปลาที่เป็นมุ้งตากอาหาร แบบเป็นคอนโด 3 ชั้น ซึ่งจัดว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน อันนี้ยังพอเข้าใจว่าใช้การได้ระดับหนึ่ง ผมไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะ มันจัดว่าโอเคในระดับหนึ่งเลยละ อย่างน้อยในจุดที่มันตากแล้วแมลงวันไม่สามารถมาตอมได้ สามารถให้ลมพัดระบายความชื้นออกได้ และทำให้อาหารแห้งได้ระดับหนึ่ง ก็นับว่าสะอาดมากกว่าตากอาหารกันโล่งๆ ที่ไม่มีอะไรกันนก หนู แมลงได้ เพียงแค่ว่าในแต่ละชั้นมันบังแสงอาทิตย์กันเองเท่านั้น เพราะผมเคยใช้เองไงเลยพบข้อดี และข้อจำกัดของเจ้าสิ่งนี้

กลับมาที่เรื่องตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีตะแกรงตากอาหารแบบ 3 ชั้น ซึ่งเป็นประเด็นหลักของเรื่องนี้

ผมกล้าที่จะสรุปไปเป็นข้อๆ ว่า มันมีจุดด้อยมากกว่าจุดดี หากมีการเพิ่มจำนวนชั้นตากอาหารภายในด้วยเหตุผลดังกล่าว หากคิดไปคิดมาหลายตลบผมคิดได้อย่างเดียวได้ว่า วัตถุประสงค์ของผู้ผลิต หรือผู้ทำขายตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์แบบหลายชั้นขึ้นมานั้นก็เพื่อ สร้างจุดขาย หรือจุดโดดเด่นที่ไม่มีใครทำ แต่ขาดความเข้าใจหลักการจริงๆ ของการเกิดความร้อนสะสมภายในตู้อบฯ และข้อจำกัดในการระบายความชื้นของอาหาร หรือผลผลิตที่นำมาตากอยู่ภายใน

แต่หากว่าจะทำจริงๆ การทำตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบตะแกรงตากอาหารหลายชั้นนั้นสามารถทำให้มันเวิร์คได้นะ แต่ต้องไม่ใช่การทำแบบไร้หลักการของธรรมชาติในการอบแห้ง หากรู้จริงถึงข้อจำกัดในส่วนนี้อย่างถ่องแท้แล้ว อย่าว่าแต่การทำชั้นตากอาหารเพียง 3 ชั้นเลย การทำแบบ 5 ชั้นก็ยังทำได้ แต่วัสดุในการทำต้องมีเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้งบประมาณ หรือราคาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อย่างน้อยๆ ประมาณสามเท่าตัว ซึ่งหากเป็นอย่างนี้การซื้อตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ 3 ตัว ก็จะมีราคาเท่ากับ ตู้อบฯ ที่มี 3 ชั้นหนึ่งตัวที่ออกแบบ และผลิตตามหลักการเพื่อให้มันใช้งานได้จริง

คือซื้อตู้ฯ แบบมีหนึ่งชั้นตากจำนวน 3 ตัว มีประสิทธิภาพเท่ากับซื้อตู้ฯ แบบมีสามชั้นใน 1 ตัว ถ้าเป็นผมๆ ผมซื้อตู้ฯ 3 ตัวแล้วแยกกันทำงานดีกว่า

แต่ตอนนี้ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีชั้นตากหลายชั้นมาก(ที่ทำแบบคิดไปเอง) แล้วจะให้มันเวิร์คคือ แห้งเร็ว เพิ่มพื้นที่ตากอาหาร แต่ประหยัดพื้นที่ตั้งวาง ผมคิดว่ายังไม่มีอยู่จริง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครที่จะคิดพัฒนาทำมันขึ้นมา มันเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายมาก ผมเลยคิดว่าน่าจะต้องทำมันขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานได้จริงตามหลักการทำความร้อนได้สูง และทั่วถึงทุกชั้นที่อยู่ในตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ครับ 🙂

ติดต่อ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า